รีวิวเครื่องวัดฝุ่น Air Doctor PM2.5 Smart Detector | Kaosuaylunla Diary

รีวิวเครื่องวัดฝุ่น Air Doctor PM2.5 Smart Detector

เพราะเราไม่สามารถวัดอันตรายของฝุ่นได้ด้วยตาเปล่า
ยิ่งปริมาณฝุ่น PM2.5 แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะบอกปริมาณของฝุ่นได้ด้วยการมอง เครื่องวัดฝุ่นเลยกลายมาเป็นของจำเป็นสำหรับครอบครัวเราที่มีสมาชิกในบ้านเป็นภูมิแพ้ เหตุผลในการซื้อก็เพื่อจะได้เอาไว้ประเมินสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลาของวัน ว่าเราควรจะหยิบหน้ากากอนามัยขึ้นมาใส่ตอนไหน (จะให้ใส่ทั้งวันก็ไม่ไหวเด้อค่า) หลังจากตกเป็นทาสการตลาดเห็นพี่แอร์ (เจ้าของบล็อก thelovelyair.com) แชร์มาว่าทางแบรนด์ Puffguin เค้ามีขาย นี่ก็สั่งซื้อไปโดยไม่รีรอ ได้ทดลองใช้สักระยะแล้วพร้อมกับมีความเข้าใจเรื่องการวัดค่าฝุ่น PM2.5 ที่มากขึ้นแล้ว เลยอยากเอามาแชร์ให้ทุกท่านได้อ่านกันค่ะ 

รีวิวเครื่องวัดฝุ่น Air Doctor PM2.5 Smart Detector

ราคาปกติ 2,400 บาท (ซื้อมาตอนโปรโมชั่น 1,890 บาท + ค่าส่ง Kerry 40บาท)
ผลิตจากจีน ใช้ร่วมกับแอปพลิเคชั่น Air Doctor (ระบบรองรับภาษาอังกฤษ)
ภายในกล่องมีคู่มือภาษาไทย, แผ่นพับชี้แจงรายละเอียดเครื่อง, สายชาร์จหัว Micro USB (ไม่มีเต้าเสียบ) และตัวเครื่องวัดฝุ่น

รายละเอียดเครื่องวัดฝุ่น

  • ขนาดเครื่อง 83.2x53x36.5 mm
สภาพที่เหมาะสมกับการใช้งาน:
  • แรงดันบรรยากาศที่ 86Kpa ถึง 106 Kpa
  • ความชื้นระหว่าง 20 ถึง 85%
  • อุณหภูมิระหว่าง -10 ถึง 45 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิที่เหมาะกับการเก็บรักษาตัวเครื่องและแผงวงจรภายใน อยู่ระหว่าง -20 ถึง 50 องศาเซลเซียส

  • ใช้เทคนิคการวัดค่าฝุ่นด้วย Laser Scattering
  • ใช้วัดขนาดฝุ่นละออง Diameter 2.5 um
  • Sampling ค่าทุกๆ 10 วินาที
  • โหมดการวัดแสดงผลความหนาแน่นต่อปริมาณสิตร (Density/Litre)
  • Display Mode : LED
  • Battery : Lithium Battery
  • ความจุขนาด 610 mAh
  • รับไฟขนาด 5V / 300 mA
อุณหภูมิตอนชาร์จไฟต่อเนื่อง ต้องอยู่ในช่วง -10 ถึง 45 องศาเซลเซียส 

วิธีใช้งาน

ก่อนการใช้งานเครื่องวัดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศแบบพกพารุ่น Air Doctor PM2.5 Smart Detector ครั้งแรกต้องแน่ใจว่าชาร์จแบตเตอรี่เต็มเรียบร้อยก่อนใช้ เพื่อการวัดผลที่แม่นยำ เมื่อเสียบชาร์จเครื่องจะทำงานอัตโนมัติ (ตอนเสียบชาร์จคือปิดการแสดงผลไม่ได้) เพื่อการวัดค่าฝุ่นที่ต่อเนื่องสามารถเสียบชาร์จทิ้งไว้ได้ ข้อควรรู้คือภายในเครื่องเป็นแบตลิเธี่ยม ชาร์จได้ด้วยสาย USB ใช้เวลาในการชาร์จจนเต็มประมาณ 3 ชั่วโมง ขณะชาร์จ ไฟ Indicator สีฟ้าจะกระพริบ เมื่อชาร์จเสร็จจนเต็มไฟ Indicator จะติดค้าง

ข้อแนะนำเพื่อรักษาอายุการใช้งานให้ชาร์จก่อนแบตเตอรี่หมดทุกครั้ง (ดูปริมาณแบตได้บนแอปฯ) เมื่อเปิดใช้เครื่องหรือย้ายสถานที่ใช้เครื่องอย่างต่อเนื่อง เครื่องจะค่อยๆปรับค่าตัวเลขจนนิ่งเพื่อแสดงค่าฝุ่นในขณะนั้น ตัวเครื่องจะคอยอัพเดทค่าฝุ่นตลอดเวลาโดยอัตโนมัติ 

การแสดงผลของเครื่องบอกเป็นตัวเลขดิจิตอล มีค่าความผิดพลาด +-20% สามารถดูค่าฝุ่นขนาด PM2.5 ได้โดยตรงจากตัวเครื่อง หรือซิ้งค์บลูทูธกับ Smart Phone เช็คผ่านแอปพลิเคชัน Air Doctor ทั้งระบบ Android และ iOS เพื่อดูค่า PM1 PM2.5 PM10 อย่างละเอียดมากยิ่งขึ้น มีฟังชั่นเก็บสถิติค่าฝุ่นที่วัดเอาไว้ได้ผ่านตัวแอปฯ 

การทำงานของเครื่อง จะดูดอากาศจากท่อช่องซ้ายของตัวเครื่องมาประมวลผลแล้วปล่อยอากาศออกทางช่องขวา ตัวเลขที่แสดงค่าความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 ไม่ใช่ค่า AQI เช่นค่า PM2.5 ที่แสดงคือ 11 จะเท่ากับค่า AQI ที่ 46 สามารถดูรายละเอียดการคำนวนค่า AQI แบบละเอียดได้ที่ AQI Calculator (แสดงตามมาตรฐานการคำนวน AQI US ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับแอป Air Visual)


สรุปง่ายๆตามชาร์ทคือ
ค่าอากาศที่ดีจะต้องแสดงผลต่ำกว่า 12 (คือค่า AQI ไม่เกิน 50) ช่วง 13 ขึ้นไปคือเริ่มมีผลกับกลุ่มคนที่ไวต่อฝุ่น และถ้าเกิน 35.5 จะเริ่มเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนที่เป็นภูมิแพ้ทั่วๆไป เกิน 55.5 จะเป็นโซนอันตรายสีแดงที่แม้แต่คนปกติก็ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยเพราะปริมาณฝุ่น PM2.5 มีมวลมากและจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ในสภาพแวดล้อมนี้

รีวิวจากประสบการณ์ทดสอบใช้จริง

เราลองเอาเครื่องวัดฝุ่นมาใช้กับหน้ากากอนามัยที่เพิ่งซื้อมาใหม่ดูว่าสามารถกรองฝุ่น PM2.5 ได้ไหม

(หน้ากากอนามัยที่ใช้ทดสอบคือยี่ห้อ Naroo รุ่น 5s สำหรับออกกำลังกายโดยเฉพาะ)

ผลคือค่า PM2.5 ลดลงจากตอนไม่พันหน้ากาก ค่าฝุ่น PM2.5 จาก 30 เหลือประมาณ 9-13 ถือว่าเป็นที่น่าพอใจและคิดว่าอุปกรณ์นี้มีประโยชน์น่าเอามาใช้ทดสอบหน้ากากอนามัยกันฝุ่นรุ่นอื่นๆเพื่อพิจารณาการซื้อซ้ำในอนาคต

การพกเครื่องวัดฝุ่นติดกระเป๋าช่วยได้มาก เช่นวัดที่ทำงาน หรือโรงเรียน ว่าวันนี้มีค่าฝุ่นเท่าไหร่ เพื่อดูความเหมาะสมว่าเราควรใส่หน้ากากมั๊ยในช่วงที่ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมนี้


โรงเรียนของลูกเราวัดค่าฝุ่น PM2.5 ได้อยู่ที่ 30 เท่ากับค่า AQI อยู่ที่ 88 เทียบกับตารางจะอยู่ที่ Moderate หรือค่าปกติสีเหลือง ถ้าแพ้ฝุ่นหนักๆช่วงนี้ใส่หน้ากากไว้ก็ดี แต่ถ้าเป็นคนแข็งแรงร่างกายปกติก็จะไม่ได้รู้สึกมีผลกระทบอะไรมากนัก


อีกอย่างคือเอามาวัดประสิทธิภาพเครื่องกรองอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศตามห้องต่างๆ และล่าสุดเพิ่งซื้อเครื่องกรองอากาศในรถมา ลองเปิดทิ้งไว้พบว่าค่าฝุ่น PM2.5 มีค่าลดลงเรื่อยๆตลอดการเดินทาง ลดลงไปจนต่ำสุดอยู่ที่ราวๆ 2-3 (AQI 8-13) อันนี้ถือว่าเป็นที่น่าพอใจมากๆ ฟีลลิ่งประมาณว่าอุปกรณ์ที่ซื้อมาได้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตแล้วโว้ยย มันได้ผลจริงๆนะเออ สบายใจ จบข่าว 5555



ลองเอามาเช็คกับแอป Mi Home พบว่าบอกค่าอากาศภายในบริเวณได้ตรงกันอยู่ ค่า PM2.5 อยู่ที่ 9 เท่ากับ AQI 38 และในแอปของ Mi Home ระบุว่าอากาศภายในรถ AQI อยู่ที่ 0-50 

ตัวเครื่องไม่หนัก มีน้ำหนักเบา อาจจะตกใจแรกๆเพราะตอนมันดูดฝุ่นจะค่อนข้างมีแรงสั่นสะเทือนวื้ดๆๆนิดนึง พอชินแล้วก็ไม่ติดอะไร เคยทดลองเปิดเครื่องทิ้งไว้ข้ามคืน ปรากฎว่าแบตหมดตอนไหนก็ไม่รู้ ถ้าอยากใช้งานยาวๆแบบไม่เคลื่อนที่ไปไหนแนะนำให้เสียบชาร์จตั้งทิ้งไว้นะคะ อย่าวางทิ้งไว้เฉยๆแล้วลืมจนแบตหมด เดี๋ยวแบตเสื่อมเร็ว 



คุมค่าที่จะซื้อไหม? อันนี้กับยี่ห้ออื่นแนะนำอันไหน? บอกตรงๆว่าไม่สามารถตอบได้เพราะไม่ได้มีเงินซื้อทุกยี่ห้อมาเปรียบเทียบกัน เราเอาอันที่มีพร้อมส่งและราคาอยู่ในระดับที่รับได้ก็พอใจแล้ว เครื่องวัดฝุ่นอันนี้ถือว่าตอบโจทย์เราที่ต้องดูแลครอบครัวจะได้ไม่ต้องส่งเข้าโรงพยาบาลไปดูแลกันข้างเตียง


ส่วนใครที่สนใจสองทักไปสอบถามกับทาง Puffguin ดูนะคะ เราซื้อมาลองใช้แล้วรีวิวเฉยๆ ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียใดๆกับทางแบรนด์ค่ะ หวังว่ารีวิวนี้จะได้ให้ข้อมูลเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆที่กำลังสนใจอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ไว้พบกันใหม่ในบทความหน้านะคะ บ๊ายบาย

Disclaimer: This is 100% Consumer review.


data-matched-content-ui-type="image_card_stacked" data-matched-content-rows-num="1" data-matched-content-columns-num="3" data-ad-format="autorelaxed"

0 comments:

แสดงความคิดเห็น

อ่านจบแล้วอยากฝากคอมเม้นอะไรบ้าง?